วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ลิ้นจี่

สูตรลิ้นจี่ลอยแก้ว หรือลิ้นจี่ในน้ำเชื่อม

ส่วนผสม :

ลิ้นจี่  ......         3 ถ้วยตวง

น้ำเชื่อม....    4.5 ถ้วยตวง

น้ำมะนาว....      1 ชต.

ภาชนะ :

เตรียมกล่องพลาสติกมีฝาปิดสนิทไว้

~~~~~~~~~~~~

วัตถุดิบ :

ลิ้นจี่....... 3 ถ้วยตวง

ปลอกเปลือก แล้วกว้านเมล็ดออก  ล้างด้วยน้ำเปล่าผสมน้ำส้มสายชู 1 ชต. สะเด็ดน้ำให้แห้ง

~~~~~~~~~~~~

น้ำเชื่อม 50% : 

ส่วนผสม :
น้ำปริมาณ 3 ถ้วยตวง 
น้ำตาลทราย 1 1/2 ถ้วยตวง

ตั้งไฟให้เดือด ให้น้ำตาลละลายหมด ยกลงพักให้อุ่นๆมือแตะภาชนะได้ 

~~~~~~~~~~~~~

วิธีทำลิ้นจี่ลอยแก้ว :


นำลิ้นจี่มาใส่ในกล่องที่เตรียมไว้ 
ใส่น้ำมะนาว 1 ชต. ลงในน้ำเชื่อม คนให้เข้ากัน
เทน้ำเชื่อมลงในกล่อง ปิดฝา

นำไปแช่เย็นช่องธรรมดา 12 ชม. ก็รับประทานได้

ถ้าต้องการทำเก็บไว้ใช้ได้นาน ก็สามารถนำไปแช่ช่องฟรีซได้

ความรู้เกี่ยวกับสารอาหารและประโยชน์ของลิ้นจี่

ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน และเกลือแร่ 

เช่น วิตามิน   บี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซีน 

วิตามินเอ ซี วิตามินบี 6 วิตามินอี โปแตสเซี่ยม 

ทองแดง สังกะสี ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม โฟเลต 

และมีเส้นใยอาหารสูง 

นอกจากนี้มีกรดอะมิโนที่เป็นโครงสร้างของโปรตีน

ได้แก่ ไทโรซีน แอสปาราจีน อะลานีน ทรีโอนีน 

วาลีน และสารประกอบไกลซีน 

น้ำมันจากเมล็ดลิ้นจี่มีสารประกอบ 

เป็นกรดไขมันที่สำคัญเช่น ปาล์มมิติก 12% 

โอลิอิก 27% และไลโนเลอิค 11% 

สรรพคุณทางยา 

จีนใช้ เนื้อในผล  กินเป็นยาบำรุง แก้อาการไอเรื้อรัง แก้อาการคัดจมูก รักษาอาการท้องเดิน   ลดกรดในกระ-เพาะอาหาร และบรรเทาอาการไม่ปกติของระบบทางเดินอาหาร 


ในประเทศจีนใช้เปลือกผลลิ้นจี่ทำเป็นชา ใช้ชงเพื่อบรรเทาอาการหวัด แก้การติดเชื้อในลำคอ อาการท้องเสียอย่างอ่อน และโรคจากการติดเชื้อไวรัส 

ตำรายาจีนกล่าวเฉพาะเมล็ดลิ้นจี่ 

ว่ามีรสหวาน ขมเล็กน้อย สรรพคุณอุ่น ทำให้พลังชี่ขับเคลื่อน ลดอาการปวด 

ใช้กรณีปวดท้อง ปวดไส้เลื่อน ปวดบวมของอัณฑะ ใช้ขนาด 5-10 กรัม โดยมักผสมกับสมุนไพรอื่นอีก หนึ่งหรือสองชนิด 

เมล็ดลิ้นจี่ ที่แห้ง ควรนำมาบด คั่วให้แห้งโดยผสมด้วยน้ำเกลือ แล้วจึงเติมน้ำลงไปต้ม น้ำดื่ม หรือทำเป็นผง รับประทานหรือใช้ ผงยาพอกบริเวณมีอาการปวดบวม

รากลิ้นจี่หรือเปลือกต้นใช้แก้อาการติดเชื้อ ไวรัส อีสุกอีใส และเพิ่มความสามารถระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

สำหรับ งานวิจัยซึ่ง ยังต้องการพิสูจน์ซ้ำเพื่อให้ได้ผลยืนยัน พบว่า สารสกัดเมล็ด ด้วยน้ำขนาด 0.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้แก่ผู้ที่เป็นพาหะโรคไวรัสตับชนิด บี ใช้ได้ผลดีในการยับยั้งเอ็นไซม์ตับที่สูงขึ้น

งานวิจัยเปลือก ของผลลิ้นจี่มีสารกลุ่มฟลาโวนอลที่สำคัญคือ โพรไซยาไนดินบี 4 ไพรไซยา- ไนดินบี 2  และอีพิคาเทชิน ส่วนที่สำคัญคือ ไซยาไนดิน - 3 -  รูตินโนไซด์ ไซยาไนดิน- 3 กลูโคไซด์ เควอเซทิน – 3 - รูติโนไซด์ และเควอเซทิน - 3 - กลูโคไซด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง และสารสกัดเปลือกยัง มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์ มะเร็งเต้านม ทั้งในห้องทดลองและในสัตว์ทดลอง โดยยับยั้งการขยายจำนวนเซลล์ การควบคุมการสื่อสารระหว่างเซลล์มะเร็ง และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็ง

รายงานวิจัยที่ทำในประเทศจีนอื่นๆยังพบว่า สารสกัดลิ้นจี่ลดขนาดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นสารสกัดส่วนใดของลิ้นจี่ 

สำหรับงานวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของไทย พบว่าสารสกัดผลลิ้นจี่มีฤทธิ์ในการปกป้องตับ ในหนูที่เหนี่ยวนำให้ได้รับสารพิษ และเป็นโรคตับ

ผลการใช้ลิ้นจี่และผลวิจัยจากสารสกัดลิ้นจี่ แสดง ศักยภาพของลิ้นจี่ ไม่เพียงแต่มีรสอร่อย แต่ยังมากด้วยคุณค่าทางยา 

อย่างไรก็ดี เนื้อผลลิ้นจี่ ยังมีสารประกอบที่พบในการวิจัยและคาดว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิด อาการ “ ร้อนใน ” ได้ การรับประทานลิ้นจี่มากเกินไปอาจเกิดอาการดังกล่าวได้ ควรรับประทานอาหารหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารรสเย็น เพื่อให้เกิดความสมดุลและแก้อาการดังกล่าว

  : บทความ : รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด
  : ภาพ : สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น